ครูบาแบ่ง ฐามุตตโม

ประวัติครูบาแบ่ง

     ครูบาแบ่ง ฐามุตตโม เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ซึ่งตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะเส็ง ที่หมู่บ้านโตนด ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา จึงถือได้ว่าเป็นชาวโคราชโดยกำเนิด

ชื่อเดิม และครอบครัว

     ชื่อเดิมของท่าน นายเสมา จุ่มกลาง เป็นบุตรของนายมาก จุ่มกลาง กับนางอ่อง จุ่มกลาง มีพี่น้องชายหญิงรวมกัน 7 คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ด้วยความที่ครอบครัวของท่านเป็นแพทย์แผนโบราณและเป็นหมออาคมไสยเวทย์ ที่ถ่ายทอดวิชาสืบต่อกันมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ทำการรักษาผู้คนในหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียงที่เจ็บป่วย

พระครูบาแบ่ง ในวัยเด็ก

     ครั้นเมื่อท่านอายุได้ 12 ปี ก็เรียนจบระดับประถมต้นจากโรงเรียนวัดบ้านโตนด จากนั้นท่านก็ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น แต่ท่านได้เริ่มศึกษาสรรพวิชาแพทย์แผนโบราณ การรักษาโรคภัยด้วยยาหม้อและสมุนไพร

     ท่านมีโอกาสได้ศึกษาอ่านเขียนอักขระขอมตามหลักคัมภีร์โบราณ และได้รับการถ่ายทอดเวทย์มนต์คาถามหาบทต่างๆจากนายมากผู้เป็นบิดา จากการที่ท่านตั้งใจรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางการแพทย์แผนโบราณเป็นอย่างดี

     เมื่อท่านอายุได้ 14 ปี ก็สามารถรักษาชาวบ้านให้หายจากอาการเจ็บป่วยได้ บิดาจึงไว้วางใจให้ช่วยรักษาชาวบ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นหมอน้อย ที่ได้รับการนับถือจากชาวบ้านโตนดตั้งแต่เยาว์วัย

ในวัยหนุ่ม และจุดเปลี่ยนในชีวิต

     เมื่ออายุย่างเข้าวัยหนุ่มชีวิตในวัยนี้ของท่านได้พบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต เมื่อในหมู่บ้านโตนดของท่านมีชีปะขาวผู้หนึ่ง ซึ่งมีร่างกายสูงใหญ่ผิดจากคนธรรมดา เดินธุดงค์จาริกแสวงบุญมาปักลดอยู่ที่ชายป่าท้ายหมู่บ้าน

     สอบถามได้ความว่าท่านเดินทางข้ามแม่น้ำโขงมาจากฝั่งประเทศลาว มีอาศรมถิ่นที่พำนักอยู่ภูเขาควาย ดินแดนที่มีความลี้ลับอาถรรพ์ เป็นป่าดงดิบที่เต็มไปด้วยถ้ำและหุบเขาสูงชันที่ทอดตัวอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาว

     ที่ภูเขาควายแห่งนี้คือสถานที่ที่พระเกจิอาจารย์ของไทยหลายรูปได้ธุดงค์ไปถึงมาแล้ว และที่ภูเขาควายแห่งนี้ก็เป็นตักศิลาวิชาอาคมไสยเวทย์ของชีปะขาวผู้นี้

     ท่านมีชื่อว่า “ครูบาสีหราช” ผู้ได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมสาย พลต้อง เณรคำ และท่านหมอเทพจากสาย”สำเร็จลุน” ซึ่งเป็นพระเกจิระดับปรมาจารย์ของประเทศลาว เมื่อท่านทราบดังนี้จึงเกิดความเลื่อมใส ท่านจึงได้ฝากตัวขอเป็นศิษย์ ออกติดตามรับใช้ครูบาสีหราชในระหว่างที่เดินธุดงค์ในไทยทั้งๆ ที่ท่านยังเป็นเพศฆราวาส

ลากลับบ้าน และบวชเรียนศึกษาพระธรรม

     จากนั้นก็เดินทางข้ามฝั่งไทยไปจนถึงอาศรมที่พำนักภูเขาควาย ท่านได้คอยรับใช้และได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากครูบาสีหราชจนสำเร็จในระดับหนึ่ง ท่านจึงกราบลาครูบาเพื่อเดินทางกลับมายังบ้านโตนดอีกครั้ง

     พอถึง พ.ศ.2521 มีอายุได้ 25 ปี ถึงเกณฑ์บวชเรียนศึกษาพระธรรม ท่านได้กราบลาอุปสมบทที่วัดบ้านโตนด โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ “พระครูวัชรญาณวิสุทธิ์” เจ้าอาวาสวัดด่านทองหลาง เจ้าคณะอำเภอโนนสูงในขณะนั้น ท่านได้รับฉายาทางธรรมว่า “ฐามุตตโม” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้มีฐานะอันอุดม”

ครูบาสีหราช ละสังขาร

     เมื่อบวชได้ 4 เดือน หลังจากออกพรรษาในปีนั้น ท่านได้ปลีกวิเวกเริ่มออกเดินธุดงค์โดยทันที ด้วยความมีมานะเป็นมุ่งมั่นและมีจิตใจที่แน่แน่ว ประกอบกับเป็นผู้มีวิชาอาคมติดตัว หลังจากที่ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆเป็นเวลา 1 ปี

     ท่านมีโอกาสได้พบกับครูบาสีหราชที่อาศรมภูเขาควายอีกครั้งหนึ่ง จึงได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจนสำเร็จถึงขั้นสูงสุด จากนั้นท่านได้เดินธุดงค์ข้ามฝั่งลาวกลับมายังวัดโตนดอีกครั้งหนึ่ง

     แต่พอถึง พ.ศ.2523 ครูบาสีหราชได้ละสังขาร ท่านจึงเดินทางกลับไปยังภูเขาควายและอยู่จัดการศพจนเรียบร้อย ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ท่านเสียใจมากจนต้องลาสิกขาบทกลับมาเป็นฆราวาส จากนั้นท่านได้เดินทางไปที่ต่างๆเพื่อค้นหาสัจจะธรรมบางสิ่งให้กับตัวเอง

บิดาล้มป่วย และที่มาของชื่อ “ครูบาแบ่ง”

     จนกระทั่ง พ.ศ.2536 ท่านได้รับข่าวบิดาล้มป่วยด้วยอาการอัมพฤกษ์ ท่านได้ทำการรักษาโดยใช้วิชาความรู้ที่มีแต่ก็ไม่สามารถรักษาบิดาให้หายได้ ท่านจึงได้ตั้งจิตอธิษฐานขอบวชแก้บนให้บิดาโดยตั้งใจจะบวชเป็นเวลา 15 วัน

     แต่ในระหว่างที่บวชแก้บนอยู่นี้ ท่านได้เห็นความเจ็บป่วยของบิดา เห็นการเจ็บป่วยล้มตายของชาวบ้าน และเห็นความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้าน ทำให้ท่านได้มีโอกาสได้เข้าใจถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเกิดคิดเปลี่ยนใจขออยู่ในร่มกาสาวพักตร์ต่อไป

     เพื่อคอยช่วยเหลือญาติพี่น้องและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ให้ได้นำหลักธรรมะมาใช้ในการนำพาชีวิตให้กลับมาดีขึ้นได้ ท่านได้รับการเรียกขานชาวบ้านและลูกศิษย์ว่า “ครูบาแบ่ง”

ครูบากฤษณะ และยุติการออกเดินธุดงค์

     “ครูบาแบ่ง” ด้วยเพราะความใจดี เมื่อชาวบ้านขออะไรท่านก็ให้โดยไม่หวงหรือยึดติด จากนั้นท่านก็ได้ออกเดินธุดงค์ตามป่าเขาในประเทศไทยเรื่อยมา และได้มีโอกาสจำพรรษาร่วมกับครูบากฤษณะซึ่งเป็นศิษย์ของครูบาสีหราชอีกผู้หนึ่ง

     จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2544 ท่านจึงได้ยุติการออกเดินธุดงค์และจำพรรษาอยู่ที่วัดโตนดตั้งแต่นั้นมา เนื่องจากปัญหาสุขภาพร่างกายและอายุที่มากขึ้น และในปี พ.ศ.2550 ท่านได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์เป็น “พระครูสังฆารักษ์”

ที่มาของคำว่า “ครูบา”

     การที่ชาวบ้านเรียกขานพระเสมาว่า ครูบา” นั้น เป็นเพราะท่านได้ศึกษาธรรมะและวิชาอาคมอยู่ที่ประเทศลาวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งชาวลาวและชาวไทยล้านนาจะใช้ภาษาถิ่นเรียกพระภิกษุที่มีความรู้ และสามารถถ่ายทอดความรู้นั้นให้กับผู้รับการศึกษาจนเข้าใจและสามารถนำไปถ่ายทอดต่อไปได้อีก ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์ของอาจารย์อีกผู้หนึ่ง

วัตถุมงคลที่สร้างเป็นครั้งแรก

     สำหรับวัตถุมงคลที่ท่านครูบาแบ่งได้เริ่มสร้างเป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2537 โดยสร้างวัตถุมงคลชุดแรกขึ้นมาเป็นจำนวน 3 พิมพ์ด้วยกัน คือ

     1.พระพิมพ์สมเด็จสามชั้นเนื้อว่านแก้ยาสั่ง เนื้อขาวผงพุทธคุณ และเนื้อดำผงใบลานเผา

     2.พิมพ์เทพสาลิกาเดี่ยว (หรือที่ลูกศิษย์นิยมเรียกกันว่า”ม้าน้ำ”) สร้างไว้ 3 สี ได้แก่ สีขาวเนื้อผงพุทธคุณ ผงสมเด็จ สีน้ำตาลเนื้อว่านเสน่ห์ ว่านมงคล และเนื้อสีแดงว่านสบู่เลือด โดยสร้างครั้งเดียวและวันเดียวกัน รวมแล้วประมาณ 140 องค์

     3.พิมพ์ขุนแผนเนื้อสุริยะคลาส สร้างประมาณ 300 องค์

วัตถุมงคลชุดแรก

     วัตถุมงคลชุดแรกที่ครูบาแบ่งสร้าง ปัจจุบันหาได้ยากมาก เพราะหมดไปจากวัดนานแล้ว สำหรับการสร้างวัตถุมงคลในแต่ละรุ่นนั้น ครูบาแบ่งจะเป็นผู้กดพิมพ์ ผสมส่วนประกอบมวลสารด้วยตัวของท่านเอง

     ในการสร้างแต่ละครั้งก็มีจำนวนน้อยตามสูตรผสมมวลสารและฤกษ์ยามโบราณที่ได้ศึกษามา โดยท่านจะพิจารณามอบให้ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดหรือผู้ที่ศรัทธาเป็นรายๆไป

logo-winitcq

ที่มาของบทความ

เป็นบทความต้นฉบับ ที่รวบรวมและเรียบเรียง โดยนายวินิจ วิจิตรโชติ

และทีมงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 จากครูบากฤษณะ-ครูบาแบ่งโดยตรง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น