ประวัติพระกรุเตาทุเรียง พระกรุเตาทุเรียง เมืองศรีสัชนาลัย มีการกล่าวถึงครั้งแรกในหลักศิลาจารึกของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช โดยในครั้งอดีตนั้น ชาวเมืองศรีสัชนาลัย เป็นช่างที่มีฝีมือในการทำเครื่องปั้นดินเผาที่เรียกว่า เครื่องสังคโลก ได้ดี ทั้งยังเป็นแหล่งผลิตและส่งออกไปค้าขายในอาณาจักรสุโขทัยและดินแดนไกล เครื่องสังคโลกนี้ปัจจุบันก็ยังผลิตอยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจโบราณสถาน รวมทั้งมีการขุดปรับแต่งพื้นที่โบราณสถานต่างๆ ภายในเมืองศรีสัชนาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๗ เพื่อเตรียมจะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทำให้พบแหล่งเตาเผา และเศษซากเครื่องสังคโลกโบราณที่จมดินอยู่สองฟากริมแม่น้ำยมพบเตาเผาต่างๆ เป็นจำนวนมากกว่า ๒๐๐ เตา ที่เขตบ้านป่ายาง บ้านเกาะน้อย บ้านหนองอ้อ และบริเวณวัดดอนลาน ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเนินดินคล้ายจอมปลวกขนาดใหญ่ดินที่ทับถมสูงประมาณ ๒๔ เมตร บริเวณดังกล่าวเป็นเตาทุเรียงที่เผาเครื่องสังคโลกที่สำรวจพบอย่างเป็นทางการ เตาที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มีมากถึง ๒๑ เตา ในบริเวณบ้านป่ายาง บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม เหนือแก่งหลวง อยู่ใกล้เมืองเก่าศรีสัชนาลัย ห่างจากกำแพงเมืองประมาณ ๕๐๐ เมตร เตาที่พบนั้นแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มเตายักษ์ เป็นกลุ่มเตาที่อยู่ใกล้เมืองศรีสัชนาลัย มีเตาตั้งเรียงรายกันอยู่ ๑๕ เตา เป็นเตาที่เผาเครื่องถ้วยชาม และประติมากรรมลอยตัวขนาดใหญ่ รวมทั้งเครื่องประดับสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น ยักษ์ เทวดา มังกร ช่อฟ้า เตายักษ์ เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกตามรูปประติมากรรมยักษ์สังคโลก ที่พบบริเวณเตาเหล่านี้ กลุ่มเตาตุ๊กตา เป็นกลุ่มเตาเผาที่อยู่ห่างจากกลุ่มเตายักษ์ออกมาทางทิศเหนือ ประมาณ ๖๐๐ เมตร พบซากเตา ๖ เตา กลุ่มเตาบริเวณนี้ผลิตประติมากรรมลอยตัวขนาดเล็ก ทั้งรูปคน และสัตว์ ลักษณะโครงสร้างของเตาเป็นเตาประทุน มีรูปทรงรี ก่อหลังคาโค้ง บรรจบกันคล้ายประทุนเรือ ตั้งอยู่บนพื้นลาดเอียง ๑๐-๓๐ องศา ภายในเตาแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ช่องใส่ไฟ ห้องบรรจุภาชนะ และปล่องไฟ สันนิษฐานว่าในครั้งที่มีการขุดแต่งปรับพื้นที่ เพื่อเตรียมจะขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานนี้เอง ทำให้มีผู้พบ พระพิมพ์เนื้อดินเผา ซึ่งภายหลังเรียกว่า “พระกรุเตาทุเรียง” พระพิมพ์ที่พบในครั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นพระเนื้อดินเผา มีหลากหลายพิมพ์จำนวนมากพอสมควร ทั้งพิมพ์ยอดขุนพล, พระร่วงแสดงพุทธกิริยาเปิดโลก, พระลีลานางระเวง, นางขนนก, พระประทับนั่งปางมารวิชัย แบบเดียวกับที่พบในกรุวัดพญาดำ ที่เรียกกันทั่วไปว่า พระยอดธง กรุวัดพญาดำ พระพิมพ์ซุ้มระฆัง รวมทั้งพระพิมพ์อื่นๆ อีกมากมาย คาดว่าพระส่วนใหญ่ที่พบบริเวณนี้จะถูกเผาด้วยอุณหภูมิสูงจึงทำให้เนื้อมีลักษณะแกร่ง แต่เนื่องจากขนาดของเตาเผาจัดว่ามีขนาดค่อนข้างเล็ก หากเทียบกับปริมาณของพระที่พบ ทำให้สีของเนื้อพระที่เผาแตกต่างกันออกไปตามแต่ระยะของการวางใกล้-ไกลของจุดวางไฟในเตา บางองค์วางใกล้ระยะไฟทำให้ได้รับความร้อนสูงมาก เนื้อพระก็จะเป็นสีเขียว ทั้งยังมีการหลอมละลายของแร่ธาตุ จนกลายสีดำคล้ายยางมะตอยเป็นหยดๆ เล็กๆ บนผิวพระที่เรียกกันว่า “หมัดไฟ” ถัดต่อจากสีเขียวก็จะออกสีดำ เนื้อสีผ่าน สีกะปิ สีแดง และเหลืองผิวไม้รวก ไปจนถึงสีพิกุลเข้ม แต่ส่วนมากมักจะพบสีผ่านจนกลายเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ทำให้นักสะสมทั่วไปใช้เป็นจุดพิจารณาพระกรุนี้นอกเหนือจากเนื้อหาของดินที่มีทั้งเนื้อละเอียดและกึ่งละเอียดกึ่งหยาบ
พระยอดขุนพลกรุเตาทุเรียง สุโขทัย
฿2,000.00
พระยอดขุนพลกรุเตาทุเรียง สุโขทัย เป็นพระเนื้อดินค่อนข้างหยาบบางองค์เนื้อแกร่งมาก พบครั้งแรกที่บริเวณเตาเผาทำเครื่องสังคโลกซึ่งเรียกกันว่าเตาทุเรียง พบแต่เนื้อดินหลาย ๆ พิมพ์ นิยมสะสมและเป็นมาตรฐานทุกพิมพ์ สร้างในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทเมื่อปี พ.ศ.1900 องค์ที่นำมาเสนอนี้เป็นพระยอดขุนพลพิมพ์ใหญ่ฐานบัวชั้นเดียว ขนาด 2.3 x 4.5 ซม. สภาพสมบูรณ์ 2,000.- บาทครับ.