พระแม่ย่า เป็นรูปสลักหินชนวน สูงประมาณ ๑ เมตรเศษ ประทับยืน ทรงพระภูษา แต่ไม่ได้ทรงฉลองพระองค์ ทรงถนิมพิมพาภรณ์แบบนางกษัตริย์ ลักษณะคล้ายประติมากรรมพระแม่อุมาเทวี สถานที่พบคือ บริเวณถ้ำพระแม่ย่า เขตตำบลนางเชิงคีรี เมืองสุโขทัย ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าเป็นใคร ผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นเทวรูปพระอุมาในยุคขอมเรืองอำนาจก่อนกรุงสุโขทัย
บางท่านก็ว่าน่าจะเป็น “พระนางเสือง” พระมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
เหตุที่เรียกว่า “แม่ย่า” นั้น เนื่องจากชาวเมืองสุโขทัยเชื่อกันว่า พระแม่ย่านี้คือพระนางเสือง พระมารดาของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ชาวเมืองเคารพสักการะ และถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ใครบนบานศาลกล่าวสิ่งใดมักจะได้สมปรารถนา จึงมีผู้ไปแก้บนที่ศาลเป็นประจำ
เดิมนั้นเทวรูปแม่ย่าประดิษฐานอยู่ ณ ถ้ำแม่ย่า ต.นางเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ห่างจากเมืองเก่าสุโขทัย ประมาณ ๗ กิโลเมตร ปัจจุบันองค์พระแม่ย่าถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลพระแม่ย่า ณ บริเวณ ต.ธานี จ.สุโขทัย
พ.ศ.๒๔๕๘ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้โปรดให้เจ้าเมืองสุโขทัย พระยารามราชภักดี (ใหญ่ ศรลัมภ์) อัญเชิญรูปสลักนั้นมาประดิษฐานที่เค้าสนามหลวง หรือศาลากลาง
ในช่วง พ.ศ.๒๔๕๖ มีผู้พบพระเครื่องเนื้อดินผสมผงเกสร มีพุทธลักษณะงดงามคล้ายสตรีประทับนั่งสมาธิ (พระถัน หรือนม ใหญ่กว่าพระเครื่องปกติ) มีสันฐานพิมพ์เป็นสามเหลี่ยม ดูงดงาม บริเวณเขาพระแม่ย่า และยังพบอีกใน พ.ศ.๒๔๙๕ ก็ได้พบพระพิมพ์ดังกล่าวอีกที่วัดมหาธาตุ ประชาชนจึงเรียกกันติดปากสืบต่อมาว่า “พระแม่ย่า” ซึ่งแบ่งเป็นพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก
ต่อมามีการจัดสร้างพระเครื่องพระแม่ย่าออกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ จนถึงปัจจุบันหลายสิบรุ่น ส่วนการจัดงานประจำปีพระแม่ย่านั้น จ.สุโขทัย จะจัดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี